ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอดาม : The Hunchback of Notre Dame

 ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอดาม

             The Hunchback Of Notre Dame เป็นหนึ่งในอนิเมชั่นดิสนีย์ที่คลาสสิกตลอดกาล และแม้จะอยู่ในสายดิสนีย์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าสดใสมุ้งมิ้ง แต่ชะตาของ ‘ชายค่อม’ ผู้นี้นับว่าดาร์กได้ใจ
             ก่อนจะมาเป็นคนค่อมแห่งนอเทรอดามฉบับดิสนีย์ แซ่บจี๊ดเชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทราบว่าคนค่อมแห่งโนตเตรอดามเป็นนิยายของ Victor Hugo มาก่อน โดยในต้นฉบับที่เขียนขึ้น ได้บอกเล่าชีวิตของชายค่อมคนหนึ่งที่มีหน้าที่ทำนุบำรุงโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ในยุค 1830 ซึ่งในฉบับจริง แม้โครงเรื่องจะคล้ายกัน แต่มันหักมุมอย่างดิบเถื่อนยิ่งกว่าดิสนีย์มากนัก

 

 

             ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอดาม  (The Hunchback of Notre Dame) เป็นนวนิยาย ประพันธ์โดย วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) และเผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1831 ชื่อ น็อทร์-ดามเดอปารีสในฉบับภาษาฝรั่งเศส อันหมายถึง "มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส" นั้น เอาชื่อวิหารดังกล่าวซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่องมาตั้ง

              วิกตอร์ อูโก เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้ใน ค.ศ. 1829 ตามที่ตกลงไว้กับ โกสเซอแล็ง (Gosselin) สำนักพิมพ์ที่เขาสังกัด ว่าจะให้เสร็จภายในปีนั้น อย่างไรก็ดี วิกตอร์ก็มิอาจเสร็จตามกำหนด เพราะต้องขลุกอยู่กับโครงการหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ราวฤดูร้อนของปีรุ่งขึ้น สำนักพิมพ์โกสเซอแลงจึงร้องขอให้เขารีบเขียนนวนิยายเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 เมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 นั้น วิกตอร์จึงกว้านซื้อปากกา น้ำหมึก และเสื้อคลุมขนสัตว์ แล้วกักตัวเองอยู่ในห้องของบ้าน โดยสัญญากับตนว่าจะไม่ออกบ้านถ้างานไม่เสร็จ เว้นแต่ไปปฏิบัติศาสนกิจยามค่ำคืนที่วิหารน็อทร์-ดาม วิกตอร์ได้ "ปั่น" นวนิยายเรื่องนี้โดยไม่หยุดพัก และเสร็จภารกิจในอีกหกเดือนถัดมา

              เรื่องเริ่มขึ้นในกรุงปารีส วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1482 อันเป็นวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์และเป็นวันเทศกาลจำอวด ในวันนั้น กาซีโมโด คนตีระฆังวิหารน็อทร์-ดาม ซึ่งมีรูปกายอันพิกลพิการและหลังค่อม ได้ปรากฏกายต่อสาธารณชน เพราะเขาได้รับรางวัลเป็นมงกุฎสำหรับ "ราชาแห่งคนเขลา" (Pope of Fools)

              ในวันเดียวกันนั้น นางแอสเมรัลดา หญิงนักร้องระบำชาวยิปซีผู้มีรูปโฉมงดงามเช่นเดียวกับจิตใจของนาง ได้ครองหัวใจของชายทั้งหลาย รวมถึง ร้อยเอกเฟบุส เดอ ชาโตแป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาซีโมโด กับบาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล ผู้เป็นอัครพันธบริกร (Archdeacon) แห่งวิหารน็อทร์-ดาม และเป็นบิดาบุญธรรมของกาซีโมโด

              บาทหลวงฟร็อลโลยอมละเมิดศาสนวินัยเพื่อความใคร่ทางกามารมณ์ของตน เขาสั่งให้กาซีโมโดลักตัวนางแอสเมรัลดามา ซึ่งกาซีโมโดยินยอมทำ เพราะเขาก็หลงรักนางอยู่เช่นกัน แต่กาซีโมโดถูกร้อยเอกเฟบุสและกองทหารจับตัวแล้วช่วยนางแอสเมรัลดาไว้ได้เสียก่อน ศาลพิพากษาให้ทวนกาซีโมโด แล้วนาบด้วยเหล็กร้อน ฝูงชนพากันมาชมดูการลงโทษกาซีโมโด และร้องร่ำเย้ยหยันแสดงความเหยียดหยามและสาแก่ใจ บาทหลวงฟร็อลโลปฏิเสธที่จะช่วยเหลือกาซีโมโดเมื่อเขาร้องเรียก ฝ่ายนางแอสเมรัลดา เมื่อเห็นว่ากาซีโมโดอยากน้ำ จึงฝ่าผู้คนเข้าไป แล้วส่งน้ำให้เขาดื่ม นี้ยิ่งทำให้กาซีโมโดรักนางมากขึ้น แต่นางแอสเมรัลดากลับรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อเห็นความอัปลักษณ์ของกาซีโมโด

              นางแอสเมรัลดาหลงรักร้อยเอกเฟบุสผู้ช่วยเหลือนางไว้เป็นอันมาก ร้อยเอกเฟบุสปดนางว่าเขาก็รักนาง แต่อันที่จริงเขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว ทั้งคู่จุมพิตกัน และขณะจะสมสู่กันนั้น บาทหลวงฟร็อลโลเห็นเข้าและคับแค้นใจเป็นอันมาก จึงลอบแทงร้อยเอกเฟบุสข้างหลัง นางแอสเมรัลดาตกใจจนสลบไป ฟื้นขึ้นก็พบว่าตนตกเป็นแพะรับบาปแทน และถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ขณะที่นางกำลังถูกพาตัวไปยังตะแลงแกงหน้าวิหารน็อทร์-ดามนั้น กาซีโมโดโหนสายระฆังวิหารลงมา แล้วชิงตัวนางเข้าไปในวิหารที่ซึ่งทุกชีวิตได้รับอภัยทานตามกฎหมาย และบาทหลวงฟร็อลโลรับปากจะให้นางอาศัยร่มพระศาสนาเป็นกำบังคุ้มภัยได้

              ขณะเดียวกัน โกลแป็ง ทรูยีโฟ หัวหน้าชาวยิปซีซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นอั้งยี่และเรียกซ่องของตนว่า "วังปาฏิหาริย์" (Court of Miracles) ทราบเรื่องนางแอสเมรัลดาถูกจับ ก็ระดมชาวยิปซีเข้าล้อมวิหารเพื่อช่วยเหลือนาง เวลานั้น ชาวปารีสพากันหาว่านางแอสเมรัลดาเป็นแม่มดบันดาลให้เมืองปั่นป่วน และเจ้าพนักงานกราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ให้ทรงทราบถึงเหตุจลาจลในกรุงปารีส พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่า ผู้คนมาชุมนุมเพื่อจะตามล่าสังหารแม่มด รัฐสภาจึงตราพระราชบัญญัติให้นางแอสเมรัลดาพ้นจากอภัยทานตามกฎหมาย และพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงบัญชาให้กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ แล้วประหารเหล่าผู้ก่อจลาจล ซึ่งรวมถึง "นางแม่มดแอสเมรัลดา" เสียให้สิ้น

              ขณะเมื่อชาวยิปซีเข้าล้อมวิหารนั้น กาซีโมโดเข้าใจว่าคนเหล่านั้นเข้ามาเพื่อจะทำร้ายนางแอสเมรัลดา จึงเข้าประจัญเพื่อปกป้องนาง กองทัพมาถึงในเวลานั้น และสังหารชาวยิปซีจนสิ้น รวมถึงโกลแป็งด้วย ในระหว่างนั้นเอง บาทหลวงฟร็อลโลให้นางแอสเมรัลดาตัดสินใจว่า จะยอมเป็นของเขาหรือไม่ นางปฏิเสธโดยไม่รีรอ เขาจึงส่งตัวนางให้แก่เจ้าพนักงาน โดยกล่าวว่า ถ้าเขาไม่ได้นาง ใครก็อย่าได้นางอีก และเห็นว่าเป็นการทำลายนางมารที่ล่อลวงให้เขาหลงใหลมัวเมา เขายืนอยู่บนหอระฆังชมดูการแขวนคอนางแอสเมรัลดาที่จัตุรัสเบื้องล่าง และระเบิดเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่งราวกับปิศาจขณะที่นางกำลังดิ้นตายในห่วงเชือก กาซีโมโดจึงผลักบาทหลวงฟร็อลโลผู้เลี้ยงตนมาจนเติบใหญ่ตกลงจากหอระฆัง บาทหลวงฟร็อลโลร่วงลงห้อยกับตัวปนาลีคาอยู่กลางอากาศ แต่เขาอ่อนแรงเกินกว่าจะยื้อยุดสิ่งใดไว้ได้ เขาคาอยู่อย่างนั้นชั่วระยะหนึ่ง ก่อนหล่นลงกระแทกกับหลังคาอาคารบ้านเรือนลดหลั่นกันไปรอบ ๆ วิหาร แล้วกระทบกับบาทวีถีกลางใจเมืองถึงแก่ความตาย

              จากนั้น กาซีโมโดมุ่งตรงไปยังตะแลงแกงมงโฟกง (Gibbet of Montfaucon) โดยผ่านสำนักนางชีเทวธิดา (Filles-Dieu) ซึ่งเป็นคำเรียกหญิงคนชั่วที่ดัดสันดานแล้ว (reformed prostitute) และยังผ่านเรือนจำแซ็ง-ลาซาร์ (Prison Saint-Lazare) ซึ่งเป็นนิคมโรคเรื้อน (leper colony) ครั้นถึงตะแลงแกง เขาเปิดหลุมศพของนางแอสเมรัลดา แล้วนอนลงข้างเคียงกับศพนางเพื่อสมรสกับนาง กาซีโมโดกอดศพเจ้าสาวเขาไว้ และที่สุดก็ขาดใจตายเพราะความหิว

               สองปีต่อมา ชาวปารีสช่วยกันตามหาศพนักโทษประหารรายหนึ่งซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 พระราชทานพระราชานุญาตให้ประกอบพิธีศพอย่างสมเกียรติได้ พวกเขามาถึงตะแลงแกงมงโฟกง และค้นพบโครงกระดูกสองโครง โครงหนึ่งเป็นหญิง มีรอยหักที่คออันเนื่องมาจากถูกเชือกรัด และอีกโครงหนึ่ง มีลักษณะช่วงหลังงุ้มงอผิดปรกติ โครงกระดูกที่สองนี้กอดรัดโครงแรกเอาไว้โดยแน่น เมื่อชาวเมืองพยายามแยกทั้งสองจากกัน โครงกระดูกที่สองก็แตกสลายเป็นผงธุลีไป

 

แนวคิดในเรื่อง

              นิยายเรื่องนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า น็อทร์-ดามเดอปารี (Notre-Dame de Paris) อันเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของมหาวิหารน็อทร์-ดาม ข้อนี้บ่งบอกว่าวิหารนั้นเองเป็นองค์หลักของเรื่อง เป็นทั้งฉากหลักและเป็นจุดหลักของการดำเนินเรื่อง เหตุการณ์เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่วิหาร บนหอระฆัง หรือได้รับการชมดูจากตัวละครที่อยู่บนดาดฟ้าวิหาร นิยายนี้แสดงความเป็นไปในศิลปะกอทิก ซึ่งสถาปัตยกรรม กิเลสตัณหา และศาสนาล้วนแต่สุดโต่ง มีการนำเสนอลัทธินิยัตินิยม (determinism) หรือลัทธิความเชื่อที่ว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ทั้งหลาย ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ตลอดจนนำเสนอภาพการจลาจลและปฏิวัติ กับทั้งการต่อสู้ทางชนชั้น การถือวรรณะดังกล่าวปรากฏในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกาซีโมโด นางแอสเมรัลดา และผู้ลากมากดีในหนังสือ อนึ่ง จะพบว่ามีแนวคิดเรื่องพลวัตทางเพศแทรกอยู่ในนิยายด้วย โดยเฉพาะส่วนที่ว่า นางแอสเมรัลดาเป็นวัตถุทางเพศของตัวละครอื่น ๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันไป

              ในสมัยนั้น วิหารน็อทร์-ดามร้างการปฏิสังขรณ์นานมากและมีสภาพทรุดโทรม นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อูโกต้องการบันทึกเอาไว้ในนิยายของเขา เขาเป็นกังวลว่า ศิลปะกอธิกอย่างวิหารน็อทร์-ดามอันเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงปารีสและแม้กระทั่งของยุโรปทั้งทวีปนั้นจะมลายหายไปเพราะวิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ เขาสอดใส่แนวความคิดนี้ไปในบรรพ 2 หมวด 2 ตอนที่บาทหลวงฟร็อลโลมองขึ้นไปยังวิหารน็อทร์-ดาม แล้วรำพันว่า "Ceci tuera cela" ("สิ่งนี้จักกลืนสิ่งนั้น", "This will kill that") นอกจากนี้ อูโกยังเขียนว่า "quiconque naissait poète se faisait architecte" ("ใครก็ตามที่เกิดมาเป็นกวีแล้วก็ย่อมผันไปเป็นสถาปนิกด้วยกันทั้งนั้น", "whoever is born a poet becomes an architect") เพื่อย้ำว่า ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกตรวจพิจารณาและห้ามเผยแพร่ได้บ่อย สถาปัตยกรรมจักคงความโดดเด่นล้ำเลิศและสถิตอยู่ในเสรีภาพอันวิเศษหาใดเหมือน


มีข้อคิดและประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งสอดแทรกอยู่ในเรื่องราวและตัวละครต่าง ๆ:

1. ความไม่เท่าเทียมและอคติทางสังคม: นวนิยายแสดงให้เห็นถึงการตัดสินคนจากลักษณะภายนอก เช่น Quasimodo ที่ถูกมองว่าเป็น "สัตว์ประหลาด" เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอก แม้ว่าเขาจะมีจิตใจที่ดีและรักจริงใจ ขณะที่ Esmeralda ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกใส่ร้ายเพราะเธอเป็นยิปซี แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมและอคติทางเชื้อชาติและรูปลักษณ์ในสังคม

2. ความเสียสละและความรักที่แท้จริง: Quasimodo แสดงถึงความรักที่แท้จริงและการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ เขายอมทำทุกอย่างเพื่อปกป้อง Esmeralda แม้กระทั่งการสละชีวิตของตนเอง แสดงถึงความหมายของความรักที่ไม่หวังผลตอบแทน

3. การใช้ความศรัทธาในทางที่ผิด: Claude Frollo เป็นตัวแทนของการใช้ศาสนาและอำนาจในทางที่ผิด แม้ว่าเขาจะเป็นนักบวช แต่เขากลับมีความทะเยอทะยานและใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สะท้อนถึงการที่อำนาจสามารถทำให้คนเปลี่ยนแปลงและทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมได้

4. การยืนหยัดในความถูกต้อง: แม้จะถูกกดขี่และถูกใส่ร้าย Esmeralda ยังคงยืนหยัดในความเชื่อและความถูกต้องของตนเอง เธอไม่ยอมที่จะยอมจำนนต่อความอยุติธรรมและพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ

5. ความเปลี่ยนแปลงของเวลาและสังคม: นวนิยายแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของปารีสและสังคมในยุคนั้น โดยใช้สัญลักษณ์เช่นโบสถ์นอเทรอดาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่และความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและการสลายตัวของสิ่งเก่า

            ข้อคิดเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาและวิเคราะห์สังคมในปัจจุบัน และเตือนใจให้เราเห็นคุณค่าของความรัก ความเสียสละ ความถูกต้อง และการยอมรับความหลากหลายของมนุษย์

            สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เคยตีพิมพ์ พ.ศ.2519 ในชื่อเรื่อง ไอ้ค่อมแห่งโนตเตรอะดาม แปลโดย สายธาร และได้นำกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2561

ภาพประกอบ: Disney

Writer

The Reader by Praphansarn